แห่ลงทุนกองทุนหุ้นนอก หลังโชว์ผลตอบแทนเฉลี่ย 20% สูงสุด 120% ทุบสถิติรอบ 10 ปี รับเทรนด์หุ้นเทคโนโลยี แถมพบ 25 กองทุนแจกยีลด์เกิน 50% บลจ.เผยหน้าใหม่พาเหรดเปิดบัญชีพุ่งเท่าตัว แต่เตือนศึกษาข้อมูลให้ละเอียด กระจายพอร์ตลดเสี่ยงให้เหมาะสม
*** เงินไหลเข้ากองทุน FIF ดันสินทรัพย์พุ่งเฉียด 9 แสนลบ.
"ชญานี จึงมานนท์" นักวิเคราะห์ อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตลาดกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดย ณ สิ้นปี 2563 มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 8.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 28% ซึ่งมีการเปิดตัวกองทุนใหม่ถึง 196 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.57 แสนล้านบาท เนื่องจากมีกองทุนหุ้นต่างประเทศเปิดใหม่จำนวนมาก เพราะให้ผลตอบแทนดี จึงได้รับความสนใจจากนักลงทุน ซึ่งปีที่ผ่านมา กลุ่มกองทุนหุ้นจีนเปิดใหม่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุด 3.6 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ต้นปีนี้กองทุนต่างประเทศยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ข้อมูล ณ สิ้น ม.ค.64 มีกองทุนต่างประเทศเปิดใหม่ 21 กองทุน ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนประเภทนี้เพิ่มเป็น 8.98 แสนล้านบาท
จุดเด่นของกองทุน FIF คือ มีรูปแบบการลงทุนที่หลากหลายทั่วโลก ซึ่งในบางหมวดธุรกิจเป็นกลุ่มที่หุ้นไทยยังขาด เช่น เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่มักจะอยู่ในกลุ่มหุ้นต่างประเทศ ทำให้การลงทุนตามเทรนด์เหล่านี้ยังมีการเติบโต อีกทั้งการลงทุนในต่างประเทศเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนต่างจากไทย เช่น ประเทศจีน มีแนวโน้มเติบโตได้จากการบริโภคในประเทศ หรือสหรัฐฯ ที่มีธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยีจำนวนมาก เป็นต้น
“วศิน วณิชย์วรนันต์” นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ระบุว่า กองทุนต่างประเทศตั้งแต่ปี 63 ถึงต้นปี 64 มีเงินไหลเข้าต่อเนื่องรวมกว่า 1 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกองทุนที่ลงทุนหุ้นกลุ่มนวัตกรรม-เทคโนโลยี ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และจีน ซึ่งมองว่าจะยังโดดเด่น เพราะทั้ง 2 ประเทศได้ปัจจัยบวกจากการเปลี่ยนประธานาธิบดีจาก "โดนัลด์ ทรัมป์" เป็น "โจ ไบเดน" ส่งผลให้สถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเบาลง ขณะเดียวกันตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นแหล่งระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนหลากหลายสัญชาติ ส่วนประเทศจีนมีข้อได้เปรียบที่เป็นประเทศขนาดใหญ่ และมีการบริโภคในประเทศค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีการเติบโตของนวัตกรรมและเทคโนโลยีไม่ต่างจากสหรัฐ
*** ผลตอบแทนสูงปรี๊ด ดูดหน้าใหม่ลุยกองทุนฯ
"ชยนนท์ รักกาญจนันท์" ประธานเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษา ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ฟินโนมีนา เปิดเผยว่า นักลงทุนในอุตสาหกรรมกองทุนรวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ช่วงครั้งหลังปี 2563 หลังกองทุนรวมหุ้นเทคโนโลยีที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยยอดการเปิดบัญชีใหม่ของบริษัทเติบโตในอัตราเร่งช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ล่าสุดมีฐานลูกค้าใกล้ระดับ 1 แสนราย เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากฐานลูกค้าเดิมก่อนหน้านี้ ซึ่งกว่า 70-80% สนใจลงทุนกองทุนหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยี ส่วนฐานลูกค้าเดิมก็เริ่มเห็นแนวโน้มการปรับพอร์ตเป็นหุ้นเทคโนโลยีในต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ด้าน "สาห์รัช ชัฏสุวรรณ" ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) ทิสโก้ เปิดเผยว่า ปี 63 ฐานลูกค้าของบริษัทเติบโตขึ้นเท่าตัว จากประมาณ 40,000-50,000 ราย เป็น 85,000 ราย และปัจจุบันยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่สนใจลงทุนกองทุนหุ้นต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี
ทั้งนี้ปี 64 บลจ.ทิสโก้จะยังเดินหน้าเสนอขายกองทุนต่างประเทศต่อเนื่อง เพราะมองว่าตลาดยังมีความต้องการลงทุนสูง โดยเดือน ม.ค. 64 ที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้ากองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) รวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 50% จากที่ปี 63 ที่มีเงินไหลเข้ากองทุนต่างประเทศสุทธิประมาณ 1 แสนล้านบาท
ขณะที่ "วศิน วณิชย์วรนันต์" ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย เผยว่า ปีที่ผ่านมามีผู้เปิดบัญชีใหม่อยู่ที่ 9.8 หมื่นราย ขณะที่ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนลูกค้าอีก 20% โดยมุ่งรักษาความเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจกองทุนรวม ด้วยการรักษาฐานลูกค้าเดิมผ่านการแนะนำกองทุนที่เหมาะสมกับภาวะตลาด, ขยายฐานลูกค้าใหม่ผ่านการเปิดเสนอขายกองทุนตามความไลฟ์สไตล์และเทรนด์โลก และพัฒนาช่องทางการลงทุนดิจิทัล โดยเพิ่มฟีเจอร์ใหม่บน App K-My Funds เพื่อให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น รวมถึงนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการวิเคราะห์และบริหารจัดการกองทุนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ฟาก "ติยะชัย ชอง" กรรมการผู้จัดการ บลจ.ฟิลลิป เผยว่า ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ยอดการเปิดบัญชีปรับขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 20% ส่วนหนึ่งเป็นผลสำเร็จของการเสนอขายกองทุนหุ้นต่างประเทศ "กองทุนเปิดฟิลลิปเวิลด์อินโนเวชั่น (PWIN)" ที่ให้ผลตอบแทนจูงใจนักลงทุนสูงกว่า 100% โดยกองทุน PWIN ถือเป็นกองทุนแรก ๆ ที่เสนอขายให้นักลงทุนรายย่อย โดยกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำไว้ที่ 1,000 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้ารายย่อยเป็นอย่างดี จากเดิมกองทุน ฟิลลิปฯ เน้นเสนอขายกองทุนส่วนบุคคล (private fund) จับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่มีเงินทุน 50 ล้านบาทขึ้นไป
เช่นเดียวกับ "ดร.ฉัตริน ลักษณบุญส่ง" กรรมการผู้จัดการ สายงาน Data Analytics and Digital Business Group บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 63 ถึงต้นปี 64 ลูกค้าเข้ามาลงทุนผ่านแอปพลิเคชั่น EASY INVEST เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากประมาณ 2 แสนบัญชี เพิ่มเป็นกว่า 4 แสนบัญชี ซึ่งการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญ ส่งผลให้การใช้งานช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด
ขณะที่นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนผ่าน EASY INVEST ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ช่วงอายุ 25-35 ปี สัดส่วนถึงราว 40-50% ของลูกค้าทั้งหมด และจะเลือกลงทุนในกองทุนต่างประเทศกว่า 60% โดยเฉพาะกองทุนเทคโนโลยีในสหรัฐและจีนที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูง
"ต้นปีนี้นักลงทุนเพิ่มขึ้นสูงมาก มีลูกค้าาเปิดบัญชีเฉลี่ยวันละ 3,000-4,000 คน โดยเป้าหมายสำคัญลำดับต้น ๆ คือการลงทุนต่างประเทศ ซึ่ง บลจ.ก็หันมาออกกองทุนต่างประเทศกันมากขึ้น และ EASY INVEST สามารถลงทุนได้หมดทั้งหุ้น, กองทุนรวม และหุ้นกู้" ดร.ฉัตรินกล่าว
*** เปิดโผ 25 กองทุนหุ้นตปท. ผลตอบแทนเกิน 50% สูงสุด 120%
"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจข้อมูลกองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศที่ดำเนินการมากกว่า 1 ปีขึ้นไป จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่ามีทั้งสิ้น 327 กองทุน ซึ่งให้ผลตอบแทน 1 ปีเฉลี่ยถึง 20% โดยมีถึง 284 ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก และพบว่ามี 25 กองทุนที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า 50% สูงสุด 120% ประกอบด้วย
25 กองทุนหุ้นต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทน 1 ปีเกิน 50%
|
บลจ.
|
ชื่อย่อกองทุน
|
ประเภทกองทุน
|
%ผลตอบแทน 1 ปี
|
วรรณ
|
ONE-GECOM
|
Global Equity
|
120.12%
|
ฟิลลิป
|
PWIN
|
Global Equity
|
97.67%
|
วรรณ
|
ONE-UGG-RA
|
Global Equity
|
91.86%
|
วรรณ
|
ONE-DISC-RA
|
Global Equity
|
83.87%
|
กสิกรไทย
|
K-CHANGE-A(A)
|
Global Equity
|
81.70%
|
กรุงไทย
|
KT-WTAI-A
|
Global Equity
|
81.38%
|
แอสเซท พลัส
|
ASP-EVOCHINA
|
Greater China Equity
|
79.42%
|
กรุงศรี
|
KFHTECH-A
|
Global Equity
|
73.59%
|
วรรณ
|
ONE-UGERMF
|
Global Equity
|
65.54%
|
กรุงศรี
|
KFGTECHRMF
|
Global Equity
|
65.10%
|
กรุงศรี
|
KF-GTECH
|
Global Equity
|
64.90%
|
แอสเซท พลัส
|
ASP-DISRUPT
|
Global Equity
|
64.63%
|
แอสเซท พลัส
|
ASP-DISRUPTRMF
|
Global Equity
|
62.83%
|
กสิกรไทย
|
K-USA-A(A)
|
US Equity
|
62.70%
|
กสิกรไทย
|
K-USA-A(D)
|
US Equity
|
62.63%
|
บัวหลวง
|
B-CHINE-EQ
|
Greater China Equity
|
59.96%
|
แอสเซท พลัส
|
ASP-ROBOT
|
Global Equity
|
58.80%
|
แอสเซท พลัส
|
ASP-ROBOTRMF
|
Global Equity
|
58.61%
|
ทิสโก้
|
TISTECH-A
|
Global Equity
|
57.81%
|
แลนด์แอนด์เฮาส์
|
LHGLIFEE-D
|
Global Equity
|
55.58%
|
บัวหลวง
|
B-FUTURE
|
Global Equity
|
55.38%
|
กรุงไทย
|
KT-CHINA RMF
|
Greater China Equity
|
55.20%
|
กรุงไทย
|
KT-CHINA-A
|
Greater China Equity
|
54.50%
|
วี
|
WE-GTECH
|
Global Equity
|
52.41%
|
ยูโอบี
|
UOBSGC
|
Greater China Equity
|
50.57%
|
ที่มา : SETSMART ข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.พ.64
|
ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นกองทุนประเภท Global Equity หรือ กองทุนที่ลงทุนในตราสารทุนต่างประเทศทั่วโลกเน้นประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศในทวีปยุโรป เป็นต้น
รองลงมาคือกองทุนประเภท Greater China Equity หรือกองทุนที่ลงทุนในตราสารทุนต่างประเทศกลุ่มเกรทเทอร์ไชน่า คือ จีน ฮ่องกง และไต้หวัน
ขณะที่กองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศของ บลจ.แอสเซท พลัส ติดโผมากสุด 5 กอง รองลงมาคือ บลจ.วรรณ จำนวน 4 กอง
ด้านกองทุนเปิด วรรณ โกลบอล อีคอมเมิร์ซ (ONE-GECOM) ให้ผลตอบแทน 1 ปีสูงสุดถึง 120% โดยมีนโยบายลงทุนในตราสารทุนประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่ประกอบธุรกิจหรือมีรายได้หรือได้รับประโยชน์จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
รองลงมาคือ กองทุนเปิดฟิลลิปเวิลด์อินโนเวชั่น (PWIN) ให้ผลตอบแทน 1 ปีระดับ 98% โดยมีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศ หรือกองทุนรวมอีทีเอฟต่างประเทศ ที่ลงทุนในตราสารทุนต่างประเทศทั่วโลกที่เกี่ยวข้องหรือได้รับประโยชน์จากนวัตกรรม
*** กูรูแนะศึกษาความเสี่ยงก่อนลงทุน
"ชญานี จึงมานนท์" นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ระบุว่า การลงทุนในกองทุนต่างประเทศ แม้ปีที่ผ่านมาจะให้ผลตอบแทนสูง แต่เป็นการลงทุนที่ต่างไปจากที่นักลงทุนคุ้นเคย ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่ต่างไป ทั้งในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงเฉพาะของแต่ละตลาดที่กองทุนเข้าไปลงทุน หรือการกระจุกตัวในหมวดธุรกิจ นักลงทุนจึงควรทำความเข้าใจในนโยบายของกองทุนที่จะไปลงทุน รวมถึงเปรียบเทียบค่าธรรมเนียม และต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
ด้าน "สุรเชษฐ์ ศรีวัฒนกุลวงศ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.อินโนเทค เพิ่มเติมว่า กองทุนรวมต่างประเทศแม้จะให้ผลตอบแทนสูงช่วงที่ผ่านมา แต่ระยะต่อไปอาจจะไม่สามารถปรับขึ้นร้อนแรงเทียบเท่าก่อนหน้านี้ เนื่องจากราคาปรับขึ้นไปค่อนข้างสูงแล้ว ซึ่งนักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลและความเสี่ยงต่าง ๆ ให้รอบคอบ อย่างไรก็ตามเชื่อว่ากองทุนหุ้นต่างประเทศจะยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ากองทุนประเภทอื่น
"วศิน วณิชย์วรนันต์" นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ปิดท้ายว่า แม้มองว่ากองทุนหุ้นต่างประเทศจะยังเติบโตได้ต่อเนื่องในปีนี้ แต่นักลงทุนต้องกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม โดยแนะนำแบ่งสัดส่วนพอร์ต หุ้นสหรัฐฯ 35% หุ้นจีน 35% และหุ้นไทย 30%