เปิดโผ 9 บจ.พาเหรดทำธุรกิจ "ไฟแนนซ์-สินทรัพย์ดิจิทัล" กลุ่มสื่อ-อสังหาฯ ติดโผสูงสุด กูรูแนะศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนเข้าลงทุน เหตุราคาพุ่งล้ำหน้าพื้นฐาน ส่วนใหญ่เริ่มหมดรอบเก็งกำไร ตะลึงราคาเคยพุ่งสูงสุด 52 - 3,372% แต่ล่าสุดเริ่มหมดแรงไปต่อ
*** พบ 9 บจ.รุกธุรกิจ "ไฟแนนซ์-สินทรัพย์ดิจิทัล"
"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจความเคลื่อนไหวบริษัทจดทะเบียนพบ (บจ.) พบ 9 บริษัทรุกทำธุรกิจ "ไฟแนนซ์-สินทรัพย์ดิจิทัล" ประกอบด้วย
9 บจ.แห่รุกธุรกิจ “การเงิน-ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล”
|
ชื่อย่อหุ้น
|
ธุรกิจหลัก-เดิม
|
ธุรกิจใหม่
|
JTS
|
ออกแบบติดตั้งระบบสื่อสาร-ไอที
|
ขุดบิตคอยน์
|
XPG
|
บริษัทหลักทรัพย์
|
ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล/บริหารหนี้
|
SIRI
|
อสังหาฯ
|
ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล/บริหารหนี้/ขายโทเคน
|
RS
|
สื่อบันเทิง-Commerce
|
บริหารหนี้
|
U
|
อสังหาฯ
|
ไฟแนนซ์/ประกัน
|
BROOK
|
ที่ปรึกษาธุรกิจ, การเงิน และการลงทุน
|
ลงทุนคริปโทฯ โดยตรง
|
NEWS
|
สื่อ-ไอที
|
Fintech
|
TH
|
สื่อสิ่งพิมพ์
|
ไฟแนนซ์
|
MVP
|
จัดงานอีเวนต์-เอเจนซี่สื่อออนไลน์
|
ขายโทเคน
|
*** JTS ประเดิมสร้างเหมืองขุดบิตคอยน์
บมจ.จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ (JTS) จากเดิมดำเนินธุรกิจ จัดหา, ออกแบบ, ติดตั้ง และทดสอบระบบสื่อสารโทรคมนาคม/เทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร (Total ICT Solution) ได้ทุ่มงบ 319.36 ล้านบาท เพื่อลงทุนธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ (Bitcoin Mining) โดยซื้ออุปกรณ์ขุดบิตคอยน์ถึง 1,200 เครื่อง
ซึ่งบริษัทระบุว่า ความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทย จึงมองหาธุรกิจใหม่ ที่จะลงทุนในระยะยาว และยังสามารถสร้างรายได้ใหม่ให้แก่บริษัท
ล่าสุดได้เพิ่มวัตถุประสงค์ของบริษัทเพื่อรองรับการประกอบธุรกิจ 1 ข้อ คือ เป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี, ศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล, นายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล, ผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี, ผู้ค้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล, เป็นที่ปรึกษาและให้คําแนะนําแก่ผู้ประกอบการธุรกิจหรือบุคคลทั่วไปเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลหรือขายเงินสกุลเงินดิจิทัล ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงแต่ไม่จํากัดเพียงการขุด ซื้อขาย แลกเปลี่ยน สินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการลงทุนหรือให้บริการด้านอื่นๆเกี่ยวกับธุรกรรมคริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล
พร้อมทั้งอยู่ระหว่างการขอเปลี่ยนชื่อ และตราประทับของบริษัท เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ Jasmine Technology Solution Public Company Limited”
*** XPG ลุยสินทรัพย์ดิจิทัล/บริหารหนี้
บมจ.เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล (XPG) ธุรกิจเดิมคือ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีมิโก้ โดยปรับโครงสร้างสำคัญ ด้วยการเพิ่มทุนครั้งใหญ่ มูลค่ารวม 6,934 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ คือ
1.ขยายการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องภายในปี 2564-2568 จำนวน 4,000 ล้านบาท
2.พัฒนาและขยายธุรกิจต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันของกลุ่มบริษัท ได้แก่ ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจจัดการกองทุน ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ และธุรกิจลงทุนในสินทรัพย์หรือบริษัทที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายในปี 2564-2568 จำนวน 2,300 ล้านบาท
3.ชำระคืนเงินกู้ยืมในรูปของตั๋วแลกเงินบางส่วนและเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทภายในไตรมาส 3/64 จำนวน 634 ล้านบาท
ซึ่งเงินก้อนใหญ่คือการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกันตั้ง บริษัท บริหารสินทรัพย์ เอ็กซ์สปริง เอ เอ็ม ซี จำกัด (XSpring AMC) เพื่อเข้าประมูลสินทรัพย์ NPL จากสถาบันการเงินมาบริหารอีกด้วย
*** SIRI เข้าซื้อหุ้น XPG ต่อยอดธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล/บริหารหนี้
บมจ.แสนสิริ (SIRI) เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนจาก XPG มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท เข้าถือหุ้นใหญ่ XPG สัดส่วน 15% เพื่อกระจายธุรกิจไปยังกลุ่มสินทรัพย์ดิจิทัล
ขณะเดียวกันตั้งบริษัทร่วมทุนกับ XPG สัดส่วน 50 : 50 คือ "XSpring AMC" เพื่อเข้าประมูลสินทรัพย์ NPL จากสถาบันการเงินมาบริหาร
รวมถึงล่าสุดขายได้ขาย "Siri Hub Token" จำนวน 240 ล้านโทเคน มูลค่ารวม 2,400 ล้านบาท เป็นโทเคนดิจิทัลที่ลงทุนในอาคารสำนักงานสิริ แคมปัส (Siri Campus) ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากค่าเช่าอาคารนี้ โดยสัดส่วนผลตอบแทนที่ผู้ถือโทเค็น SiriHubA จะได้ผลตอบแทนอยู่ที่ 4.5% ต่อปี และผู้ถือโทเค็น SiriHubB ที่ 8% ต่อปี จนครบกำหนด 4 ปีตามโครงการ
*** RS เข้าลงทุนบริษัทบริหารหนี้
บมจ.อาร์เอส (RS) เข้าลงทุน บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด สัดส่วน 35% มูลค่า 920 ล้านบาท ซึ่งประกอบธุรกิจติดตามและบริหารหนี้ NPL ซึ่งมีหนี้ภายใต้การบริหารถึง 2.3 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะร่วมกันต่อยอดธุรกิจดังกล่าวกับธุรกิจปัจจุบันของ RS เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันในอนาคต และมีแผนจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปลายปี 65
*** U ทุ่มเงินกว่าหมื่นล้าน เข้าลงทุนธุรกิจไฟแนนซ์/ประกัน
บมจ.ยู ซิตี้ (U) ทุ่มเงินกว่าหมื่นล้านบาท เข้าซื้อหุ้น บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) สัดส่วน 24.9% มูลค่า 7,115 ล้านบาท และ ซื้่อหุ้น บมจ.เจ มาร์ท (JMART) สัดส่วน 9.9% มูลค่า 4,129 ล้านบาท เพื่อต่อยอดธุรกิจไฟแนนซ์ ซึ่งมีศักยภาพการเติบโตสูง
ขณะที่ก่อนหน้านี้ได้เข้าซื้อหุ้น บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต สัดส่วน 75% มูลค่า 1,500 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจด้านประกัน
*** BROOK ลุยเทรดคริปโทฯ
ฟาก บมจ.บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป (BROOK) ได้เข้าลงทุนในคริปโทฯ โดยตรงตั้งแต่ต้นปีนี้ ใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 1,200 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นงบไตรมาส 2/64 บันทึกขาดทุนจากการลงทุนดังกล่าวไปถึง 369 ล้านบาท
นอกจากนี้ อยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนทำธุรกิจเหมืองขุดคริปโทฯ เพราะมองว่ามีศักยภาพการเติบโตที่ค่อนข้างสูงในอนาคต
*** NWES รุก Fintech
บมจ.นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น (NEWS) ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ โดยจำหน่ายเงินลงทุนธุรกิจเดิมออก เพื่อนำเงินไปต่อยอดการลงทุนใหม่ด้านนวัตกรรมการเงินหรือ Fintech ขณะนี้อยูในระหว่างการยื่นขอใบอนุญาตทำบริษัทหลักทรัพย์ Liberator (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฐานเศรษฐกิจ แคปปิตัล (บลน.) ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังแล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างการตรวจสอบระบบงานกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือนธ.ค.64
นอกจากนี้มีแผนจะให้บริการสินเชื่อระหว่างบุคคลต่อบุคคลโดยผ่านระบบออนไลน์และไม่ผ่านตัวกลาง (Peer to peer lending) อีกด้วย
*** TH ลุย ไฟแนนซ์
บมจ.ตงฮั้ว โฮลดิ้ง (TH) เดิมทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายหนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีน “หนังสือพิมพ์ตงฮั้ว” ปรับโครงสร้างดำเนินธุรกิจเป็นธุรกิจให้สินเชื่อโดยให้บริการเงินกู้เงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น หรือ แฟคตอริ่ง ซึ่งให้บริการเงินกู้เงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น โดยรับซื้อหนี้การค้าในรูปของใบวางบิล ใบรับวางบิล หรือ invoice โดยการรับโอนสิทธิการรับเงินจากลูกค้า เพื่อจัดเก็บเงินจากลูกหนี้(หน่วยงานราชการและเอกชน)
รวมถึงทำธุรกิจบริหารและจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และได้เข้าร่วมประมูลสินทรัพย์ 3,045 ล้านบาท เมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา และชนะการประมูล โดยมีแผนการซื้อหนี้ปีละ 5-6 พันล้านบาท
*** MVP รุกขายโทเคน
บมจ.เอ็ม วิชั่น จำกัด (MVP) ขาย MVP Coin ที่เป็น Utility Token จำนวน 305 ล้านโทเคน คิดเป็นมูลค่า 92 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรึกษากับทางทีมงานของ ก.ล.ต. และผู้ตรวจสอบบัญชี เรื่องวิธีการบันทึกบัญชี ซึ่งจำนวนโทเคนที่รอบันทึกรายได้จะสามารถรับรู้เป็นรายได้เข้าได้เมื่อมีผู้ถือโทเคนนำไปใช้บริการต่างๆ และ รอ ก.ล.ต.พิจารณาให้นำ MVP Coin เข้าไปเทรดในกระดาน ซึ่งจะทำให้คนที่สนใจซื้อ MVP Coin สามารถซื้อโทเคนได้ง่ายขึ้น
ขณะเดียวกันเดินหน้าสู่ธุรกิจบล็อกเชน (Blockchain) ล่าสุดได้มีการเข้าไปร่วมลงทุนและทำการตลาดในเกมส์โลกเสมือน METAVERS Thailand ซึ่งสามารถซื้อที่ดินในเกมส์ด้วยเหรียญ MVP Coin จะมีการพัฒนาต่อยอดและสามารถสร้างรายได้เข้ามาให้กับบริษัทในอนาคต อีกทั้งบริษัทยังมองโอกาสในการศึกษาการต่อยอดธุรกิจ Blockchain เพิ่มเติม ซึ่งได้มีการศึกษาการต่อยอดในธุรกิจดังกล่าวร่วมกับ Kubix บริษัทในเครือกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)
*** กูรูมองธุรกิจไฟแนนซ์เริ่มแข่งขันสูง
"ณัฐชาต เมฆมาสิน" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อ เริ่มมีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น เพราะมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจมักเติบโตได้ดีในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ จากประชากรส่วนใหญ่ มีรายได้ลดลง และจำเป็นต้องกู้สินเชื่อที่มีดอกเบี้ยสูง แต่ปัจจุบัน เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น หรือผ่านช่วงที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว ดังนั้นอัตราการเติบโตในระยะต่อไป จึงมีค่อนข้างจำกัด
"การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ที่มากขึ้น จะยิ่งทำให้ตลาดแข่งขันกันดุเดือดมากขึ้น ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแข่งขันด้านราคาที่ต่ำลง ฉุดมาร์จิ้นของอุตสาหกรรมลดลง ขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยในอนาคต กำลังจะกลับไปสู่รอบขาขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของกลุ่มเพิ่มขึ้นด้วย"
สำหรับ กลยุทธ์การลงทุนในกลุ่มดังกล่าว แนะนำเข้าซื้อ ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งจะเป็นช่วงที่กำไรสุทธิของบริษัทในกลุ่มมีอัตราเติบโตสูง จากประชากรที่มีความจำเป็นต้องกู้สินเชื่อเพื่อประคองฐานะการเงิน และ ตัดขายทำกำไรในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว เพราะโอกาสเติบโตในอัตราเร่ง เหมือนรอบเศรษฐกิจชะลอตัวลดน้อยลงแล้ว
ด้าน "วิจิตร อารยะพิศิษฐ" ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า สาเหตุที่ช่วงหลังหลายบริษัท เริ่มเปลี่ยนธุรกิจหันมาทำธุรกิจการเงิน, สินเชื่อ และบริหารหนี้กันมากขึ้น เนื่องจากมีมาร์จิ้นสูงสะท้อนจากผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการในตลาดปัจจุบันที่กำไรเติบโตสูงต่อเนื่อง
ทั้งนี้มองว่า มีความเสี่ยง คือ การเก็บหนี้ของผู้เล่นรายใหม่อาจทำได้ยากกว่ารายเก่า เพราะขาดประสบการณ์ ส่งผลให้มาร์จิ้นอาจไม่สูงเท่าผู้เล่นรายเก่า และการซื้อหนี้มาบริหารในสถานการณ์โควิด-19 อาจจะทำให้ตัวเลขการผิดนัดชำระหนี้และตัวเลขตามเก็บหนี้แตกต่างจากข้อมูลสถิติในอดีต ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการประเมินหนี้เสีย การตั้งสำรอง และกำไรของบริษัทได้
ส่วน กลยุทธ์การลงทุน ให้ตัดสินใจเลือกหุ้นที่มีฐานทุนระดับสูง เพราะสะท้อนถึงความมั่นคงของศักยภาพในการแข่งขัน ควบคู่กับความสามารถในการจัดเก็บเงินสดในระดับสูง เนื่องจาก 2 ปัจจัยดังกล่าว จะเป็นตัวชี้วัดการเติบโตของกำไรสุทธิ ในระยะถัดไป
*** ระวังเก็งกำไรหุ้นเอี่ยวคริปโทฯ ราคาเริ่มหมดรอบ
บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า หุ้นกลุ่มที่เข้าลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลส่วนใหญ่ราคาปรับตัวขึ้นมามากแล้วช่วงที่ผ่านมา แนะนำเพียง “เก็งกำไรสั้นๆ” แบบระมัดระวัง เพราะหลายบริษัทราคาแพงเกินไปแล้ว ขณะที่ส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุด และธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล แม้จะเป็นเทรนด์แห่งอนาคต แต่หากให้ประเมินแง่ปัจจัยพื้นฐาน ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินได้อย่างชัดเจน ต้องดูผลงานของแต่ละบริษัทอีกระยะ ดังนั้นผู้ลงทุนต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง
ทั้งนี้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลมีมีความเสี่ยงสำคัญคือ
1.บริษัทที่เข้าไปลงทุนในคริปโทฯ โดยตรง เช่น หุ้น BROOK ซึ่งผลประกอบการจะขึ้น / ลง หรือได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ฯจาก แนวโน้มราคาเหรียญ
2.บริษัทที่เข้าไปลงทุนขุดบิตคอยน์ : เช่น หุ้น JTS ต้นทุนคือ ค่าไฟ, อุปกรณ์ และการ์ดจอในขุด ฯลฯ ส่วนรายได้คือ เหรียญที่ได้จากการเข้าไปแข่งกันถอดรหัส โดยกำไรและขาดทุนจะขึ้นอยู่กับราคาเหรียญในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งมีความผันผวนสูง
3.บริษัทที่รับคริปโทฯ หรือโทเคน เพื่อใช้ซื้อสินค้าหรือบริการ : อาทิ SIRI, ANAN, ORI, ASW, MAJOR กลุ่มนี้จะได้เพียงกระแส หรือ Sentiment เชิงบวกระยะสั้นเท่านั้น เพราะจำนวนธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริงอาจจะไม่มากนัก
ด้าน ก.ล.ต.ได้ส่งหนังสือถึง บจ.ทุกแห่ง เมื่อว 17 ก.ย.64 โดยขอให้บริษัทจดทะเบียนที่มีการลงทุนหรือมีแผนที่จะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล พิจารณาลงทุนด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินหรือผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงจากความผันผวนของราคา
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต.ได้ย้ำให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินการและพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น มาตรการและกลไกบริหารจัดการความเสี่ยง ความพร้อมของระบบงานและบุคลากร การศึกษาวิเคราะห์และคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะลงทุน และมาตรการในการติดตามการลงทุน เป็นต้น
รวมทั้งให้พิจารณาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เว็บไซต์ของบริษัทจดทะเบียน และในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่มีนัยสำคัญอย่างถูกต้องและเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน
นอกจากนี้ ก.ล.ต.แนะนำให้ทำธุรกรรมผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานทางการเพื่อให้การลงทุนดังกล่าวได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยต้องได้รับใบอนุญาตตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานก.ล.ต. เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครองภายใต้พระราชกำหนดฉบับดังกล่าว
*** ตะลึงหุ้นกลุ่มนี้ราคาบวกสูงสุด 52 - 3,372% แต่เริ่มดิ่งแล้ว
ทั้งนี้เมื่อสำรวจราคาหุ้น 9 บริษัทข้างต้นพบว่าราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปี (YTD) ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งหมด สูงสุด 52 - 3,372% ดังนี้
ราคาหุ้น 9 บจ.รุกธุรกิจ “การเงิน-ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล”
|
ชื่อย่อหุ้น
|
ราคาปิด 1 ต.ค. (บ.)
|
%chg YTD
|
ราคาสูงสุดปี 64 (บ.)
|
%chg เทียบสิ้นปี 63
|
JTS
|
52
|
2,594
|
67
|
3,372
|
XPG
|
3.1
|
672
|
5
|
1,150
|
TH
|
2.6
|
431
|
4.3
|
778
|
NEWS
|
0.06
|
500
|
0.07
|
600
|
MVP
|
4
|
223
|
8.2
|
561
|
BROOK
|
0.67
|
78
|
1.04
|
174
|
SIRI
|
1.21
|
49
|
1.52
|
88
|
RS
|
17.5
|
1
|
30
|
73
|
U
|
1.74
|
23
|
2.16
|
52
|
อย่างไรก็ตามปัจจุบันราคาหุ้นทุกบริษัทปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากราคาสูงสุดเหลือบวกเพียง 1 - 2,594% จากต้นปี ซึ่งหากเทียบกับราคาสูงสุดของแต่ละบริษัทพบว่าปรับตัวลดลงระดับ 19-51%