วงการหุ้นไอพีโอคึกคัก ราคาพุ่งแจ่มสุดรอบ 5 ปี สวนทางภาวะตลาด พบ 2 บริษัททะยานวันแรกแตะ 200% วงการชี้ รายย่อยคัมแบ็คแห่เก็งกำไร หลังหุ้นในกระดานหมดเสน่ห์ มีอีก 15 บริษัทต่อคิวเทรด หลัง ก.ล.ต.อนุมัติไฟลิ่ง กูรูติง ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบรายบริษัท ไม่มีการันตีว่าจะดีแน่ทุกราย
*** ผลตอบแทนไอพีโอแจ่มสุดรอบ 5 ปี
"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจสถิติราคาหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) พบว่า ผลตอบแทนเฉลี่ย ณ ราคาปิดการซื้อขายวันแรก ของหุ้นไอพีโอที่เข้าซื้อขายในปีนี้รวม 7 บริษัท อยู่ที่ 76% สูงสุดในรอบ 5 ปี โดยปีที่ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่าปัจจุบันคือปี 2557 มีหุ้นไอพีโอเข้าจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 36 บริษัท ผลตอบแทนเฉลี่ย ณ ราคาปิดการซื้อขายวันแรกระดับ 93%
ขณะที่ปีนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่มีหุ้นไอพีโอถึง 2 บริษัทเปิดการซื้อขายวันแรกและปิดการซื้อขายวันแรกราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 200% จากราคาไอพีโอ (ปี 57 มี 5 บริษัท) ได้แก่ บมจ.ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป (IIG) และ บมจ.ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี (SICT)
โดย 7 บริษัทที่ขายไอพีโอปีนี้ประกอบด้วย
ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นไอพีโอปี 63
|
ชื่อย่อหุ้น
|
วันเทรด
|
ราคาไอพีโอ
(บ.)
|
% การเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นช่วงต่าง ๆ เทียบกับราคาไอพีโอ
|
เปิดวันแรก
|
ปิดวันแรก
|
ล่าสุด
|
สูงสุด
|
ต่ำสุด
|
SCM
|
08/09/63
|
1.9
|
50.53
|
29.47
|
11.58
|
69.47
|
10.53
|
ETC
|
18/08/63
|
2.6
|
53.85
|
4.62
|
-28.46
|
76.92
|
-31.15
|
IIG
|
06/08/63
|
6.6
|
200.00
|
200.00
|
162.12
|
277.27
|
90.91
|
SICT
|
30/07/63
|
1.38
|
200.00
|
200.00
|
214.49
|
418.12
|
156.52
|
STGT
|
02/07/63
|
34
|
62.50
|
77.94
|
100.74
|
164.71
|
62.50
|
CRC
|
20/02/63
|
42
|
0.60
|
-0.60
|
-35.71
|
0.60
|
-50.71
|
YGG
|
07/01/63
|
5
|
7.00
|
22.00
|
102.00
|
234.00
|
-35.60
|
ทั้ง 7 บริษัท ราคาเปิดการซื้อขายวันแรกเพิ่มขึ้นจากราคาไอพีโอ เทียบกับปีก่อนมีถึง 9 บริษัทที่ราคาเปิดซื้อขายวันแรกติดลบ โดยมีเพียงบริษัทเดียวที่ราคาปิดการซื้อขายวันแรกปรับตัวลดลงจากราคาไอพีโอ
บมจ.ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี (SICT) เป็นบริษัทที่มีราคาล่าสุดเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับราคาไอพีโอถึง 214.49% โดย ณ 12 ก.ย.63 ราคาปิดที่ 4.34 บาท จากราคาไอพีโอที่ 1.38 บาท และเป็นบริษัทที่ราคาขึ้นไปสูงสุดจากราคาไอพีโอถึง 418.12% โดยขึ้นไปถึงระดับ 7.15 บาท
*** หุ้นในกระดานหมดเสน่ห์
"ณัฐชาต เมฆมาสิน" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ ระบุว่า ความน่าสนใจของหุ้นในกระดานเริ่มตึงตัวโดยเฉพาะด้านมูลค่า (Valuation) หุ้นไอพีโอจึงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เพราะมีความใหม่ ขณะที่การตั้งราคาเสนอขายอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลมากขึ้น มีส่วนลดพอสมควร และไม่แพงเกินไปเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 จะระบาด ขณะเดียวกันนักลงทุนรายย่อยเข้ามามีบทบาทในตลาดมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ซึ่งหุ้นไอพีโอจะเป็นเป้าหมายสำคัญของนักลงทุนกลุ่มนี้
เช่นเดียวกับ แหล่งข่าวผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินรายใหญ่ เผยว่า สภาพคล่องของนักลงทุนรายย่อยที่เก็บเงินสดไว้ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก เริ่มกลับเข้าสู่ตลาดหุ้น เพราะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่หุ้นในกระดานกลับเหลือตัวเลือกไม่มากนัก เพราะได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า บางบริษัทแนวโน้มธุรกิจไม่สัมพันธ์กับราคา ซึ่งหุ้นไอพีโอจะน่าสนใจกว่าในแง่ความใหม่ของธุรกิจ และ ผลประกอบการที่ยังเป็นขาขึ้น
ด้าน "แมนพงศ์ เสนาณรงค์" รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มองว่า หุ้นไอพีโอที่เสนอขายช่วงหลังโควิด-19 ราคาปรับตัวร้อนแรง เพราะหลายธุรกิจได้รับอานิสงส์จากกระแสการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal) เช่น ธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับถุงมือยาง, ธุรกิจเทคโนโลยี หรือบางบริษัทเป็นธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นพิเศษ
ส่วน "อนุรักษ์ บุญแสวง" หรือ โจ ลูกอีสาน อดีตนายกสมาคมนักลงทุนหุ้นเน้นคุณค่า (VI) ประเมินว่า ไอพีโอที่เข้าบริษัทแรกหลังโควิด-19 อย่าง STGT ราคาปรับตัวขึ้นร้อนแรง เนื่องจากธุรกิจมีความจำเป็นในยุคโควิด-19 ส่วนไอพีโอที่ตามเข้ามาอยู่ในธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งยังมีไม่มากในตลาดหุ้นไทย และนักลงทุนให้ความสนใจ ราคาจึงกระโดดร้อนแรงตามไปด้วย ส่งผลให้หลังจากนั้น มีนักลงทุนเข้ามาดักซื้อเก็งกำไรในช่วงเปิดตลาดวันแรกสำหรับไอพีโอบริษัทต่อมา ปลุกกระแสหุ้นไอพีโอร้อนแรงขึ้นมาอีกรอบ
*** 15 ไอพีโอจ่อเข้าเทรด
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทอยู่ระหว่างยื่นแบบไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์รวมทั้งสิ้น 28 บริษัท โดยได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต.ให้เข้าซื้อขายได้แล้วถึง 15 บริษัท ประกอบด้วย
หุ้นไอพีโอที่ได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต.แล้ว
|
ชื่อบริษัท
|
ขายไอพีโอ (ล.หุ้น)
|
ธุรกิจ
|
ที่ปรึกษาการเงิน
|
จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
|
“เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” (SCGP)
|
1,194.80
|
บรรจุภัณฑ์
|
ธ.ไทยพาณิชย์
|
“ศักดิ์สยามลิสซิ่ง” (SAK)
|
546
|
เงินทุนและหลักทรัพย์
|
บล.ธนชาต
|
เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF)
|
340
|
อาหารและเครื่องดื่ม
|
ธ.ไทยพาณิชย์
|
ไซมิส แอสเสท (SA)
|
320
|
อสังหาริมทรัพย์
|
บล.ธนชาติ
|
“ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง” (SNNP)
|
260
|
อาหารและเครื่องดื่ม
|
ธ.ไทยพาณิชย์
|
ไมโครลิสซิ่ง (MICRO)
|
235
|
เงินทุนและหลักทรัพย์
|
เอเซีย พลัส
|
“สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์” (SAV)
|
224
|
ขนส่งและโลจิสติกส์
|
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง
|
เวล เกรด เอ็นจิเนียริ่ง (WGE)
|
160
|
รับเหมาก่อสร้าง
|
คันทรี่ กรุ๊ป แอ๊ดไวเซอรี่
|
ทางยกระดับดอนเมือง (DMT)
|
140
|
ขนส่งและโลจิสติกส์
|
อวานการ์ด แคปปิตอล
|
เจ.อาร์.ดับเบิ้ลยู. ยูทิลิตี้ (JR)
|
100
|
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
|
บล.ฟินันเซีย ไซรัส
|
“สยามราชธานี” (SO)
|
85
|
บริการเฉพาะกิจ
|
อวานการ์ด แคปปิตอล
|
จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)
|
“สบาย เทคโนโลยี” (SABUY)
|
157.02
|
บริการ
|
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง
|
“ศิรกร” (SK)
|
115.35
|
อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง
|
แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์
|
ไทยเทคโนกลาส กรุ๊ป (TTG)
|
106
|
อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง
|
แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์
|
“ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี” (SICT)
|
100
|
เทคโนโลยี
|
ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่
|
*** อย่าวู่วามลงทุน ต้องศึกษารายธุรกิจ
"แมนพงศ์ เสนาณรงค์" เสริมว่า นักลงทุนต้องพิจารณาข้อมูลรายบริษัทอย่างรอบคอบ ประเมินแนวโน้มธุรกิจที่สนใจจริง ๆ ไม่ควรเข้าลงทุนทุกบริษัทเพื่อหวังเก็งกำไรในการซื้อขายวันแรก เพราะไม่มีการันตีว่าราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกบริษัท
ขณะที่ "อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล" ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ แนะนำว่า นักลงทุนที่จะลงทุนหุ้นไอพีโอต้องตอบคำถามกับตนเองให้ได้อย่างน้อย 3 ข้อ ประกอบด้วย
1.บริษัทดำเนินธุรกิจอะไร เข้าใจภาพรวมของการดำเนินธุรกิจ แนวโน้มการเติบโตทั้งจากอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต โดยอาจประเมินได้จากภาวะอุตสาหกรรม และวิเคราะห์ปัจจัยกดดันทั้ง 5 (Five Force Model) ได้แก่ การเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่, การต่อรองของลูกค้า, สินค้าทดแทน, ช่องทางผู้จัดหาวัตถุดิบ หรือซัพพลายเออร์, การแข่งขันภายในอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจภาพรวมของธุรกิจมากขึ้นว่ามีอะไรบ้างที่จะส่งผลกระทบกับธุรกิจบ้าง
2.วัตถุประสงค์การระดมทุน เช่น เพื่อใช้สำหรับการขยายกิจการชำระคืนหนี้ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของกิจการ ซึ่งจะช่วยให้ประเมินโอกาส และความเสี่ยงในอนาคตข้างหน้าได้
3.เปรียบเทียบราคาหุ้นกับมูลค่าที่เหมาะสม หากราคาหุ้นอยู่สูงเกินมูลค่าที่เหมาะสม ถึงแม้จะเป็นกิจการที่ดีมีอนาคต แต่อาจไม่ใช่ทางเลือกที่น่าลงทุน ควรมองหาธุรกิจที่ดี และราคายังต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสมอยู่ โดยหาได้จากบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ว่ามีมูลค่าสูงสุด - ต่ำสุด และเฉลี่ยเท่าไร แต่หากไม่มี อาจใช้วิธีการประเมินมูลค่าอย่างง่าย ๆ เช่น อัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) หรือราคาหุ้นตามมูลค่าทางบัญชี (P/BV) โดยเปรียบเทียบกับหุ้นในตลาดฯ ที่มีลักษณะธุรกิจคล้ายคลึงกัน
เช่นเดียวกับ "วัชระ แก้วสว่าง" หรือ เสี่ยป๋อง นักลงทุนสายรายใหญ่ ระบุว่า การลงทุนหุ้นไอพีโอต้องดูเป็นรายบริษัท เพราะธุรกิจแตกต่างกัน ต้องเข้าใจพื้นฐานอย่างแท้จริง เช่น ภาพรวมธุรกิจ แนวโน้มการเติบโตของกำไร มีฟรีโฟลทมากน้อยแค่ไหน รวมถึงการกำหนดราคาจองซื้อว่าเกินจากราคาพื้นฐานหรือไม่
ขณะเดียวกัน "โจ ลูกอีสาน" ปิดท้ายว่า ไม่ควรเสี่ยงเข้าลงทุนหุ้นไอพีโอเพราะหวังว่าราคาหุ้นวันแรกจะปรับตัวขึ้น 200% หมดทุกบริษัท เพราะเป็นไปไม่ได้ และเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ราคาจะปรับตัวลดลงเสมอ
"ส่วนนักลงทุนที่นิยมเข้าไปดักเก็งกำไรช่วงเปิดตลาดวันแรก เพราะบางคนหวังว่าจะมีเจ้ามือคนมาคอยช่วยดันราคาหุ้น ก็ไม่ควรทำเช่นกัน เพราะเจ้ามือคงไม่ยอมปล่อยให้ทำกำไรออกไปได้ง่าย ๆ แม้รอบก่อนหน้านี้จะได้ แต่รอบอื่น ๆ อาจพลาดก็ได้ ทางที่ดีหากไม่ได้จองซื้อหุ้นไอพีโอแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงดีกว่า เพราะแม้ราคาเปิดซื้อขายวันแรกจะปรับตัวขึ้นสูง แต่สุดท้ายจะลงไปหาพื้นฐานเสมอ รอให้กระแสช่วงแรกสะเด็ดน้ำก่อนดีกว่า ยกเว้นหุ้นไอพีโอบริษัทนั้นจะมีพื้นฐานธุรกิจที่ดีมาก ๆ ก็จะพิจารณาไปอีกทางได้"