ประเด็นร้อนแรงในวงการตลาดทุนไทยชั่วโมงนี้คงหนีไม่พ้นปัญหาการเบี้ยวหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น(B/E)ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่อยู่ดีๆเกิดอาการติดเชื้อกันเป็นแถว
เริ่มตั้งแต่ บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) ต่อด้วย บมจ.เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ (KC) ตามมาด้วย บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) ลากไปถึงบมจ.อี ฟอร์ แอล เอม (EFORL) และล่าสุด บมจ.ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (RICH) กลายเป็นปัญหาไฟลามทุ่งสะเทือนวงการและได้รับการจับตามองว่าใครจะเป็นรายต่อไป
ปัจจุบันมีบจ.ที่ออกตั๋วบี/อีและมีกำหนดชำระคืนภายในปี 60 จำนวน 118 บริษัท (ไม่รวมกลุ่มแบงก์) มูลค่ารวมทั้งสิ้น 553,850 ล้านบาท ซึ่งมีรายที่ออกเล็กน้อยแค่150 ล้านบาท จนถึงสูงสุดที่ระดับ 4 หมื่นล้านบาท สะท้อนว่าเครื่องมือทางการเงินประเภทนี้ได้รับความนิยมพอสมควรเลยทีเดียว
*** พบ 17 บจ.เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงผิดนัด B/E
บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ทิสโก้ ระบุว่า บริษัทที่มีความเสี่ยงผิดชำระหนี้ตั๋ว B/E จะประกอบด้วยลักษณะ 4 ประการดังนี้
1.มีสัดส่วนหนี้ตั๋วเงินระยะสั้นต่อหนี้สินรวมที่สูงกว่า 10%
2.มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนมากกว่า 1 เท่า
3.มีอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนน้อยกว่า 1 เท่า
4.มีเงินสดในมือต่ำ
ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลของ “สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย” พบว่า บจ.ที่ออกตั๋ว B/E และมีกำหนดชำระคืนภายในปีนี้ พบว่า มี 17 บริษัท ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงตามเงื่อนไขข้างต้น
โดยมี 3 บริษัทที่จะครบกำหนดภายในไตรมาส 1 นี้ ประกอบ ด้วยบมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) มูลค่า 5,000 ล้านบาท วันครบกำหนด 18 ก.พ.60, บมจ.เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ (CHOW) มูลค่า 3,000 ล้านบาท วันครบกำหนด 9 มี.ค.60 และ บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) (ESSO) มูลค่า 12,000 ล้านบาท วันครบกำหนด 31 มี.ค.60
ซึ่ง ESSOมีมูลการออกสูงที่สุดในกลุ่มนี้ โดยมีอัตราหนี้สินต่อทุน 2.09 เท่า ตั๋ว B/E ที่ออกคิดเป็น 31.41% ของหนี้สินรวมทั้งหมด มีอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน 0.78 เท่า และมีเงินสด 885.20 ล้านบาท
ด้านบริษัทที่มีสัดส่วนหนี้ B/E ต่อหนี้สินรวมสูงสุดคือ บมจ.โซลาร์ตรอน (SOLAR) โดยมีมูลค่าการออกตั๋ว B/E ที่ 1,000 ล้านบาท คิดเป็น 48.29% ของหนี้สินรวม
ตารางแสดงหุ้นที่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ B/E (ข้อมูล ณ Q3/59)
บริษัท
|
มูลค่าตั๋วบี/อี (ล้านบาท)
|
วันครบกำหนด
|
หนี้สินต่อทุน (เท่า)
|
สัดส่วนหนี้ตั๋วเงินระยะสั้นต่อหนี้สินรวม (%)
|
อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (เท่า)
|
เงินสด (ล้านบาท)
|
PACE
|
5000
|
18/02/60
|
10.78
|
17.79
|
0.65
|
816.16
|
CHOW
|
3000
|
09/03/60
|
7.27
|
30.22
|
0.63
|
411.37
|
ESSO
|
12000
|
31/03/60
|
2.09
|
31.41
|
0.78
|
885.2
|
EARTH
|
6000
|
11/04/60
|
2
|
28.19
|
0.95
|
661.05
|
GUNKUL
|
4000
|
22/05/60
|
1.39
|
31.1
|
0.96
|
2210.27
|
EFORL
|
600
|
31/05/60
|
2.88
|
14.4
|
0.5
|
31.74
|
JMART
|
1000
|
05/06/60
|
2.4
|
14.63
|
0.63
|
213.16
|
GRAND
|
3000
|
12/06/60
|
1.44
|
20.3
|
0.4
|
422.93
|
MAJOR
|
1500
|
07/07/60
|
1.2
|
18.96
|
0.37
|
551.17
|
KSL
|
5000
|
21/07/60
|
1.76
|
20.88
|
0.67
|
125.03
|
BRR
|
1010
|
10/08/60
|
2.12
|
21.23
|
0.97
|
101.15
|
SIMAT
|
150
|
01/08/60
|
1.17
|
20.43
|
0.69
|
19.88
|
DEMCO
|
1200
|
01/08/60
|
1.63
|
25.16
|
0.92
|
489.46
|
TFI
|
200
|
23/08/60
|
2.16
|
12.86
|
0.53
|
118.46
|
PSTC
|
400
|
01/09/60
|
1.24
|
23.34
|
0.47
|
173.33
|
TFG
|
3500
|
30/10/60
|
1.45
|
40.51
|
0.9
|
885.2
|
SOLAR
|
1000
|
22/12/60
|
1.03
|
48.29
|
0.82
|
111.57
|
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าบริษัทที่เข้าเงื่อนไขข้างต้นจะต้องผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E เพราะแต่ละบริษัทอาจมีลักษณะเฉพาะ หรือมีโครงสร้างทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ที่แตกต่างกัน รวมทั้งข้อมูลที่ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย"ใช้พิจารณาประกอบ เป็นเพียงข้อมูล ณ สิ้นงบไตรมาส 3/59 ยังไม่ใช่ข้อมูลในงบการเงินรายปีซึ่งอาจมีข้อมูลทางการเงินที่ครบถ้วนมากกว่า
*** บจ.แห่ออกตั๋วบี/อี เหตุต้นทุนการเงินต่ำ
นักวิเคราะห์สายงานตลาดตราสารหนี้ ระบุว่า จุดเด่นของการออกตั๋วบี/อี คือมีต้นทุนทางการที่ต่ำกว่าการกู้แบงก์ โดยดอกเบี้ยตั๋วเงินระยะสั้นอยู่ที่เฉลี่ยต่ำสุดแค่ 2.7%
ขณะที่ให้ผลตอบแทนต่อเจ้าของเงินดีกว่าการออมผ่านแบงก์ รวมไปถึงการออกตั๋วบี/อี มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เพราะไม่ต้องมีต้นทุนด้านการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ "CreditRating"
"เป็นเรื่องของความลงตัวระหว่างผู้ออกและผู้ซื้อ จึงมีการขายตั๋วบี/อีกันอย่างคึกคัก และด้วยความง่ายของกระบวนการออกตราสารประเภทนี้ทำให้เกิดการ Roll Over ทุนใหม่อย่างต่อเนื่อง จนลืมนึกถึงความเสี่ยงเรื่องการผิดชำระหนี้ เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีกรณีตัวอย่างให้เห็นเท่าไหร่นัก
ตั๋วบี/อี เป็นที่นิยมมาประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ต้องมีจัดอันดับ และไม่ต้องนำไปขึ้นทะเบียนกับสมาคมตราสารหนี้ไทย ทำให้ง่ายต่อการระดมทุน ใช้เวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์เท่านั้น ถ้ามีการติดต่อประสานงานกันก่อน ต่างกับการออกหุ้นกู้ จะต้องหาที่ปรึกษาทางการเงิน ยื่นไฟลิ่ง รวมถึงการแต่งตั้งผู้จัดจำหน่าย ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 เดือน"
*** ใช้ทุนผิดประเภท ต้นเหตุโดมิโน่เบี้ยวหนี้
นักวิเคราะห์รายเดิมกล่าวต่อไปว่า สาเหตุสำคัญที่เกิดปรากฏการณ์ผิดชำระหนี้ คือบริษัทที่ออกตั๋วบี/อี ใช้เงินทุนผิดประเภท นำเงินกู้ระยะสั้นไปลงทุนในโครงการระยะยาว
"ตั๋วบี/อี เป็นตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่เกินแค่ 270 วัน แต่นำไปลงทุนโครงการที่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน เช่น โรงไฟฟ้า จึงทำให้เกิดอาการชักหน้าไม่ถึงหลัง หรืออย่างบางกรณีก็เกิดจากปัญหาภายในด้านการบริหาร
อย่างไรก็ตามมองว่าเป็นความโชคร้ายของตราสารหนี้ประเภทนี้ ที่บังเอิญเกิดเหตุการณ์ผิดชำระหนี้ขึ้นพร้อมกันหลายบริษัท จึงทำให้เกิดความตระหนกต่อภาพรวมทั้งหมด ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าจะส่งผลกระทบเพียงระยะสั้นเท่านั้น"
*** จับตาดอกเบี้ยบี/อี จะไม่ถูกอีกต่อไป
ผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาการเงิน ระบุว่า จากนี้ไปการออกตั๋วบี/อี อาจจะทำได้ยากขึ้น เพราะผู้เกี่ยวข้องเริ่มแสดงบทบาทของตัวเองเพื่อจัดระเบียบตราสารประเภทนี้ใหม่
อีกทั้งจะเกิดปรากฏการณ์ความเขี้ยวของนักลงทุนที่มองว่าตั๋วบี/อีมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นจะเกิดการขอเพิ่มดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่จะได้รับ ซึ่งอาจจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของตั๋วบี/อีไม่ถูกอีกต่อไป
"คนที่ลงทุนตั๋วบี/อี ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีประสบการณ์ด้านการลงทุนสูง เมื่ออีกฝ่ายอยากได้เงิน แต่การให้กู้แบบนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ดังนั้นดอกเบี้ยที่จะได้ก็ต้องมากขึ้นเช่นกัน
และกลุ่มที่จะต้องยอมเพิ่มดอกเบี้ยก็คือบริษัทที่มีปัญหาเรื่องหนี้สินต่อทุน กู้แบงก์ไม่ได้ และไม่อยากเพิ่มทุน โดยจะเริ่มเห็นในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก"
เช่นเดียวกับ "ธาดา พฤฒิธาดา" กรรมการผู้จัดการ สมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ที่มองว่า “ผลกระทบจากการผิดนัดชำระ อาจจะส่งผลต่อต้นทุนดอกเบี้ยที่ขยับขึ้น เพราะกลุ่มคนที่สนใจลงทุนอาจจะเรียกร้องผลตอบแทนสูงขึ้น จึงอยากจะเตือนผู้ออกว่าสถานการณ์ที่คิดว่าจะ Roll over ได้ตลอดเวลา สถานการณ์อาจไม่ใช่แบบนั้นแล้ว”
*** บิ๊กตลาดทุนเชื่อไม่กระทบภาพรวม
"สันติ กีระนันทน์" รองผู้จัดการหัวหน้างานสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ปัญหาการผิดชำระตั๋วบี/อี จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวม เนื่องจากประเมินสัดส่วนมูลค่าความเสี่ยงอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่ายังเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับยอดตั๋วบี/อี คงค้างทั้งระบบ ณ ปี 59 ที่ราว 2-3 แสนล้านบาท
"ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของ บจ.คาดว่าจะไม่ลุกลามวงกว้าง เพราะผู้ลงทุนส่วนใหญ่เป็นผู้ลงทุนแค่กลุ่มสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งความเสียหายหากเกิดการผิดนัดชำระจะค่อนข้างจำกัด
ขณะที่บจ. ของไทยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เฉลี่ยอยู่ที่ราว 1 เท่าเศษ ซึ่งแม้บางกลุ่มอาจมีการก่อหนี้ค่อนข้างเยอะ แต่เป็นการเตรียมไว้สำหรับการลงทุน ขณะที่กระแสเงินสดของ บจ.ไทยยังมีเพียงพอและสามารถก่อหนี้ได้อีก
ไม่มีอะไรน่าห่วง แต่เราก็ไม่ประมาท โดยตลาดหลักทรัพย์ฯและสมาคมตลาดตราสารหนี้กำลังร่วมกันสำรวจตลาดตั๋วบี/อี ทั้งหมดว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ และมีกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้กับรายไหนบ้าง"
*** ก.ล.ต.เล็งคุมเข้มการออกตั๋ว B/E
"รพี สุจริตกุล" เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มขั้นตอนให้บริษัทที่จะออกตั๋วแลกเงินระยะสั้นต้องเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน รวมถึงศักยภาพในการดำเนินงาน วัตถุประสงค์การใช้เงินอย่างชัดเจน
โดย ก.ล.ต. ได้หารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้ง บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) หลังจากนั้นต้องเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือ Public Heering ก่อนจะกลับมาออกเป็นกฎเกณฑ์
"เราคงไม่เข้าไปชะลอการออกตั๋ว B/E เพราะมันเป็นเพียงปัญหาการบริหารจัดการที่ไม่ลงตัวภายในบริษัทเท่านั้น ยังไม่มีปัญหาที่ลามออกมาสู่ระบบการเงินโดยรวมแต่เราคงต้องเข้าไปเพิ่มกลไกให้การออกตั๋วเหล่านี้ช้าลง และเปลี่ยนจากตั๋วระยะสั้นเป็นตั๋วระยะยาวมากขึ้น โดยเราคงให้บริษัทที่มีความเสี่ยงมากๆ แจงฐานะทางการเงินอย่างละเอียด ซึ่งจะเพิ่มข้อมูลให้นักลงทุนตัดสินใจได้มากขึ้น ทั้งนี้ต้องเข้มงวดกับผู้ที่เอาตั๋วเหล่านี้ไปขายให้เปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงเหล่านี้ด้วย คาดว่าการดำเนินงานทั้งหมดน่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน"